ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

“ขอให้รับเป็นบุตร”

๑.ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง บ. บุตรเขยเป็นผู้ปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้เยาว์ เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ญาติหรือพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมหรือถูกถอนอำนาจปกครอง ทั้งมารดาผู้เยาว์ยังมีแฟนอยู่แม้ไม่ทราบที่อยู่ ไม่อาจติดต่อได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๕(น่าจะเป็นมาตรา ๑๕๘๕มากกว่า) เมื่อไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ การตั้งผู้ปกครองหลายคนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๙(น่าจะเป็นมาตรา ๑๕๙๐ มากกว่า) จึงไม่อาจทำได้ บ.ยังไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาผู้เยาว์ย่อมรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๗๕/๒๕๑๘
๒. การยื่นคำร้องขอเป็นคำฟ้อง ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อ ๒๖ พ.ย.๒๕๔๕ แต่มายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ.เมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๙ เกิน ๑ ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะต้องห้ามตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๖ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง(ยื่นคำร้องขอ) ปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ ป. หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการโต้แย้งสิทธ์ของผู้ร้องในการรับมรดกของ ป. อย่างไร ผู้ร้องชอบไปใช้สิทธิ์ทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป คำพิพากษาฏีกา ๙๕๗๔/๒๕๕๑
๓.ฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร เมื่อตามสูติบัตรและทะเบียนบ้านระบุว่า ผู้ร้องเกิดวันที่ ๒๔ พ.ค.๒๕๑๒ ผู้ร้องยื่นคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ขณะที่ผู้ร้องมีอายุ ๓๔ ปี เป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีขาดอายุความ แม้จะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องไม่ใช่บุตร ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ตามกฎหมาย จนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกครุสภา(ช.พ.ค.) เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้อง โดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิ์ทางศาลขอให้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่การใช้สิทธิ์ทางศาลก็ยังตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความ ผู้ร้องจะอ้างว่าเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ์ คดีไม่ขาดอายุความหาได้ไม่คำพิพากษาฏีกา ๔๗๘๖/๒๕๔๙
๔.เด็กหญิง อ. เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ กับจำเลย แม้ไมได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กหญิง อ. ก็เป็นบุตรชอบกฎหมายของโจทก์ที่ ๑ซึ่งเป็นมารดา แม้จะอยู่ในความปกครองของ น. กับ ป.ซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์ที่ ๑ หรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว น กับ ป จะไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. เป็นบุตรบุญธรรม ก็หากระทบสิทธิ์ของเด็กหญิง อ. โจทก์ที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๑ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ในการนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง อ. เป็นบุตร การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อ่าจกระทำการในฐานะส่วนตัวได้แต่กระทำในฐานะผู้ฟ้องแทนได้ โจทก์ที่ ๒ จึงมีอำนาจฟ้องคำพิพากษาฏีกาที่ ๓๒๙๐/๒๕๔๕
๕. โจทก์มีอายุ ๑๖ ปีเศษฟ้องขอให้จำเลยที่เป็นบิดาเป็นผู้รับรองโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิ์เรียกค่าเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันได้เพราะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๖วรรคสองให้เด็กที่มีอายุ ๑๕ ปีบริบรูณ์ฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้เอง ทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยคดีโจทก์จึงไม่เป็นอุทลุม การฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว เป็นเรื่องต่อเนื่องการรับรองเด็กดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลียงดู การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน ๓๐ วัน หากไม่ปฏิบัติตามถือเอาคำพิพากษาแสดงเจนาของจำเลย นั้นไม่ชอบเพราะพรบ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา ๒๐บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงยื่นสำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดที่รับรองแล้วเพื่อให้บันทึกในทะเบียน ทั้งโจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องต้องห้ามตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๒๒๖๘/๒๕๓๓
ข้อสังเกต ๑.เด็กที่เกิดจากชายหญิงไม่ได้มีการสมรสกัน คือไม่ได้จดทะเบียนสมรสตาม ปพพ มาตรา ๑๔๕๗ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ปพพ มาตรา ๑๕๔๖ เด็กจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายต่อเมื่อ บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือบิดาจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ปพพ มาตรา ๑๕๔๗ ซึ่งการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวทั้งสามประการนี้ ปพพ มาตรา ๑๕๕๗ ให้มีผลตั้งแต่วันที่เด็กเกิด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาที่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรส หรือบิดาจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรไมได้
๒.ข้อสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรของชาย
๒.๑มีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หน่วงเหนียวกักขังหญิงมารดาโดยไม่ชอบในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ได้คือระยะเวลา ๑๘๐ วันถึง ๓๑๐ วัน ซึ่งระยะเวลา ๓๑๐ วันคือระยะเวลาที่ปพพ มาตรา ๑๔๕๓ บัญญัติให้หญิงที่สามีตายหรือการสมรสสิ้นสุดด้วยประการอื่น เช่นหย่าขาดจากกัน หากจะทำการสมรสใหม่ต้องให้ระยะเวลาที่การสมรสสิ้นสุดลงผ่านไปไม่น้อยกว่า ๓๑๐ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ได้ประกอบ ปพพ มาตรา ๑๕๓๙ วรรคแรก การปฏิเสธไม่รับเด็กเป็นบุตร หากพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรถ์ คือระหว่าง ๑๘๐ถึง ๓๑๐ วันก่อนเด็กเกิด นั้นก็คือกฎหมายถือระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ได้คือระยะเวลา ๑๘๐ ถึง ๓๑๐ วันก่อนเด็กเกิด
๒.๒ลักพามารดาไปในทางชู้สาว หรือล่อลวงมาร่วมประเวณีหญิงมารดาในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ได้คือระยะเวลา ๑๘๐ วันถึง ๓๑๐ วัน
๒.๓มีเอกสารของบิดาว่าเด็กเป็นบุตร เช่น บิดามาขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๙ พรบ จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือบิดาเป็นคนตั้งชื่อบุตรแล้วมาแจ้งชื่อต่อนายทะเบียนเพื่อให้บันทึกลงในสูติบัตรว่าเด็กชื่อว่าอะไร
๒.๔ปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
๒.๕บิดามารดาอยู่ร่วมกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ได้
๒.๖มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรถ์ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นไม่ได้เป็นบุตรของชายอื่น
๒.๗มีพฤติการณ์ที่รู้มาโดยตลอดว่าเด็กเป็นบุตร เช่น ให้ใช้นามสกุลบิดา ส่งเสียเล่าเรียน อุปการะเลี้ยงดู บอกกับคนทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตร
๓.การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร หากเด็กอายุยังไม่ครบ ๑๕ ปีบริบรูณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นคนฟ้องแทน หากไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือมีแต่ทำหน้าที่ไม่ได้ ญาติสนิทหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีฟ้องแทนเด็ก
๔.หากเด็กอายุครบ ๑๕ ปีบริบรูณ์เด็กต้องฟ้องเองโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หากเด็กบรรลุนิติภาวะต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ซึ่งการบรรลุนิติภาวะอาจเป็นเพราะมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบรูณ์(ปพพ มาตรา ๑๙) หรือเมื่อทำการสมรส ปพพ มาตรา ๒๐,๑๔๔๘
๕.การร้องขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองตาม ปพพ มาตรา ๑๕๘๖ ผู้ร้องขอต้องเป็นญาติหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยเพราะไม่ใช่ญาติตามสายโลหิตและไม่ได้เป็นพนักงานอัยการ การที่.ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง บ. บุตรเขยเป็นผู้ปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยที่ผู้ร้องไม่ใช่ญาติหรือพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมหรือถูกถอนอำนาจปกครองอำนาจปกครองยังมีอยู่ เมื่อมารดาผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่แม้ไม่ทราบที่อยู่ ไม่อาจติดต่อได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๘๕ เมื่อไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ การตั้งผู้ปกครองหลายคนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๙๐ จึงไม่อาจทำได้ เมื่อ บ.ยังไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาผู้เยาว์ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๙๘/๒๑จึงไม่สามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมได้ บ. จึงรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้
๖. การยื่นคำร้องขอเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆที่ได้กระทำต่อศาลจึงเป็น “คำฟ้อง” ตามวิเคราะห์ศัพท์ใน ปวพ มาตรา ๑(๓) การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องกระทำภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ เมื่อปรากฏว่า ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อ ๒๖ พ.ย.๒๕๔๕ แต่มายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ.เมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๙ จึงเกิน ๑ ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะต้องห้ามตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๖ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง(ยื่นคำร้องขอ) ส่วนปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ ป. หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะเมื่อไม่ได้ฟ้องหรือร้องภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอันขาดอายุความแล้ว แต่หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการโต้แย้งสิทธ์ของผู้ร้องในการรับมรดกของ ป. อย่างไร ผู้ร้องชอบไปใช้สิทธิ์ทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทในอีกคดีต่อไป
๗.การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องกระทำภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ เมื่อตามสูติบัตรและทะเบียนบ้านระบุว่า ผู้ร้องเกิดวันที่ ๒๔ พ.ค.๒๕๑๒ ผู้ร้องยื่นคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ขณะที่ผู้ร้องมีอายุ ๓๔ ปี เป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีขาดอายุความ แม้จะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องไม่ใช่บุตร ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม หากต้องการให้กฏหมายรับรองคุ้มครองว่าตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายต้องฟ้องหรือร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ เมื่อไม่ได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะมาอ้างว่าไม่มีปัญหา และมีปัญหาตอนบิดาถึงแก่ความตายแล้ว ไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกครุสภา(ช.พ.ค.) เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้อง โดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิ์ แม้จะเกิดมีข้อต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือจำต้องใช้สิทธิ์ทางศาลตาม ปวพ มาตรา ๕๕ ก็ตาม แต่การใช้สิทธิ์ทางศาลดังกล่าวก็ยังตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความ จึงจะอ้างว่าเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ์ คดีไม่ขาดอายุความหาได้ไม่
๘.ชายหญิงไม่จดทะเบียนสมรส เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง แต่ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย แม้เด็กจะอยู่ในความปกครองของ ปู่กับย่าที่เป็นบิดามารดาของฝ่ายชายก็ตามหรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว ปู่กับย่าจะไปจดทะเบียนรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรม ก็หากระทบสิทธิ์ของเด็กที่จะฟ้องขอให้บิดารับตนเป็นบุตรได้. การที่เด็กยื่นฟ้องโดยมารดา ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมทำการฟ้องแทน เพื่อให้บิดาจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตร การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดย ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทนแม้ว่าในฐานะส่วนตัว ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจฟ้องในฐานะส่วนตัวได้เพราะกฏหมายให้เด็กเท่านั้นที่ต้องเป็นคนฟ้อง แต่เมื่อมารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องกระทำการในฐานะผู้ฟ้องแทน จึงมีอำนาจฟ้องแทนเด็กได้
๙. การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรสามารถฟ้องรวมไปกับการเรียกค่าเลี้ยงดูจากบิดาได้ เมื่อได้ความว่าโจทก์มีอายุ ๑๖ ปีเศษฟ้องขอให้จำเลยที่เป็นบิดาเป็นผู้รับรองโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิ์เรียกค่าเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันได้เพราะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๕๖วรรคสองให้เด็กที่มีอายุ ๑๕ ปีบริบรูณ์ฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้เอง ทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยคดีโจทก์จึงไม่เป็นอุทลุมที่จะห้ามผู้สืบสันดานฟ้องผู้บุพการีไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญา หากมีความจำเป็นต้องฟ้องให้กระทำโดยพนักงานอัยการนั้น หมายถึงบุพการีที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรหรือยังไม่ได้พิพากษาให้รับเด็กเป็นบุตรแล้ว เด็กยังไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจึงสามารถฟ้องบิดาได้ไม่เป็นอุทลุมตาม ปพพ มาตรา ๑๕๖๒ ทั้งการฟ้องในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว เป็นเรื่องต่อเนื่องการรับรองเด็กดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน ๓๐ วัน หากไม่ปฏิบัติตามถือเอาคำพิพากษาแสดงเจนาของจำเลย นั้นไม่ชอบเพราะพรบ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา ๒๐บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงยื่นสำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดที่รับรองแล้วเพื่อให้บันทึกในทะเบียน ทั้งโจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องต้องห้ามตามกฎหมาย ปวพ มาตรา ๑๔๒ที่ห้ามพิพากษาหรือทำคำสั่งในสิ่งใดๆเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง

ไม่มีความคิดเห็น: