ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

ศาลจังหวัดจันทบุรีพิพากษายกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 ศาลจังหวัดจันทบุรีพิพากษายกฟ้องความผิด

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

กรณีจำเลยถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

ในหลวงรัชกาลที่ 9


ศาลได้วางหลักในการวินิจฉัยว่า “คำว่าพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว มิฉะนั้นจะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้”


คำวินิจฉัยของศาลเป็นไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยกับทนายความจำเลย ถือเป็นคำพิพากษาที่สอดคล้องกับหลักการและความเห็นทางวิชาการของอาจารย์หยุด แสงอุทัย, อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์, อาจารย์สาวตรี    สุขศรี และนักวิชาการท่านอื่น ๆ ที่ได้ยื่นเป็นเอกสารประกอบการสืบพยาน


ในฐานะทนายความจำเลยผมขอชื่นชมความกล้าหาญของผู้พิพากษาท่านนี้ที่กล้ายืนยันยึดมั่นในหลักวิชา

และวินัจฉัยกลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเคยวินิจฉัยว่ามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ด้วย


“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว

หรือไม่?”


ในทางวิชาการ อ.สาวตรี สุขศรี เขียนอธิบายไว้น่าสนใจว่า


บุคคลที่พึงจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 

หมายถึง เฉพาะบุคคล ซึ่งยังมีสภาพบุคคล และดำรงตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง ในเวลาที่กฎหมายบังคับใช้อยู่ ได้แก่ 

พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 


อาจารย์หยุดแสงอุทัย เขียนอธิบาย มาตรา 98 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ไว้ในหนังสือ “ความผิดที่กระทำทางวาจา พิมพ์ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ พร้อมด้วยย่อคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ หน้า 277 ความว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พระองค์ปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ และที่ยังดำรงอยู่ในราชสมบัติ ไม่ใช่ที่สวรรคต หรือสละราชสมบัติไปแล้ว”  


ขณะที่อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ รวมทั้งอาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อธิบายมาตรา 112 แห่งกฎหมายกฎหมายอาญาว่า “พระมหากษัตริย์ หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช้พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้ว หรือพระมหากษัตริย์ในอดีต” โดยให้เหตุผลว่า “หาไม่แล้วก็จะทำให้ความผิดฐานนี้หาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้” 


สุดท้ายนี้ อ.สาวตรีฯ ได้อธิบายต่อไปด้วยว่า ความผิดอื่น ๆ ที่อยู่ในหมวดความผิดเดียวกับมาตรา 112 คือ หมวด 1 นับตั้งแต่มาตรา 107 มาตรา 108 มาตรา 109 และมาตรา 110 

ก็ล้วนแต่หมายเฉพาะหรือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นแก่พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่ เท่านั้น และภายใต้หลักการตีความกฎหมายอย่างมีเอกภาพ มาตรา 112 ย่อมไม่อาจถูกตีความให้แตกต่างไปจากความผิดฐานอื่น ๆ ในหมวดเดียวกัน


หากพิจารณาตามแนวคำอธิบายทางกฎหมายของครูบาอาจารย์ทางด้านกฎหมายอาญาระดับต้นของประเทศไทย

ย่อมจะเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

คุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์และครองราชย์อยู่เท่านั้น ไม่น่าจะหมายความรวมไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว 


เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า ขณะที่มีการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ย่อมถือว่าสิ้นสภาพบุคคล และมิได้ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน คดีนี้จึงไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 


อย่างไรก็ตามนักกฎหมายบางท่าน

ก็คงจะอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 ขึ้นมาหักล้าง

โดยอ้างเอาเหตุผลที่ศาลเขียนว่า “เมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงมีความผิดตามมาตรา 112 แม้กระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้วก็ตาม” 


หลักในทางตำราวิชาการ และ หลักในทางคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ทำให้เกิดประเด็นความน่าสนใจว่า ศาลชั้นต้นจะตัดสินพิพากษาคดีนี้อย่างไร?


ส่วนตัวผมนั้นมองว่า เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล การตีความกฎหมายอาญาจึงจำเป็นต้องตีความโดยเคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง 

ตามหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย” (Nullum crimen, nulla poena sine lege) อันเป็นหลักการสำคัญที่ถูกรับรองไว้ทั้งในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น iccpr รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 


เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุเพียงคำว่า 

“พระมหากษัตริย์” โดยตามรัฐธรรมนูญนั้นพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ รัฐจึงอาจจะอยากให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ การตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงน่าจะหมายความเพียงแค่องค์พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่ ครองราชย์อยู่และเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น ไม่สามารถตีความขยายไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วได้ เพราะพระองค์สิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐแล้ว 


หากตีความขยายความมาตรา 112 ให้ครอบคลุมไปถึง

อดีตพระมหากษัตริย์ย่อมจะเกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในองค์ประกอบความผิด เกิดความปั่นป่วนในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องน่าดู เช่น หากตำราเรียนหรือตำรา เล่มไหนเขียนทำนองว่า พระเจ้าตากสินทรงสติวิปลาส ก่อนจะถูกทุบด้วยท่อนไม้จันทร์ เช่นนี้ ผู้เขียนตำราเล่มนั้น ก็อาจจะถูกดำเนินคดีและลงโทษในความผิดมาตรา 112 ได้ เพราะไปกล่าวหาว่าพระเจ้าตากสินซึ่งเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ทรงสติวิปลาส


มิพักต้องกล่าวถึงว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากตีความว่ามาตรานี้คุ้มครองถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว  แบบนี้จะตีความว่าคุ้มครองไปถึงพระราชินี รัชทายาท และ

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่สวรรคตหรือเสียชีวิตไปแล้วด้วยหรือไม่


หากตีความว่าไม่คุ้มครองก็จะคงจะถือเป็นการตีความที่แปลกประหลาดน่าดู 

เพราะเป็นบทบัญญัติมาตราเดียวกัน แต่กลับตีความแตกต่างกัน 


หากตีความว่าคุ้มครองก็อาจจะเกิดปัญหาการบังคับใช้ที่กว้างขวางเป็นอย่างยิ่งตามมาด้วยเช่นกัน เช่น หากมีการใส่ความใส่ร้ายอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนองค์ไปในทางเสียหาย เช่นนี้ ผู้กระทำก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เช่นกัน 


คดีนี้ไม่ว่าศาลจะพิพากษาออกมาว่าอย่างไร

ก็คงจะถือเป็นกรณีศึกษาให้ถกเถียงแลกเปลี่ยน

ในวงการนิติศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง


หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับผมก็ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ หลายท่านอาจจะมองว่าแม้กระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ก็เป็นเรื่องที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง ส่วนนั้นผมก็เข้าใจ 

แต่ต้องแยกให้ออกว่า การกระทำใด ๆ จะเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ กับ ผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละส่วนกัน หากไม่มีกฎหมายเขียนไว้เป็นความผิดก็ไม่ควรจะไปลงโทษเขา ฝ่ายที่เห็นว่าแม้กระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ไม่บังควรและควรจะผิดกฎหมาย ท่านก็ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายผ่านทางกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่ใช่ตีความขยายความเพื่อลงโทษบุคคล แบบนั้นผมเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะไม่สอดคล้องกับหลักการสากล