ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

“จิตบกพร้องโรคจิตจิตฟั่นเฟือน”

๑.จำเลยมีอาการผิดปกติมานานแล้ว มีกำเริบเป็นครั้งคราว ไม่อาจรับรู้ได้ล่วงหน้า เมื่อมีอาการทางจิตแล้วจะรู้สึกกลัว และจำอะไรไม่ได้ จำเลยฟันผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ปรากฏว่าเคยมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันจะเป็นมูลเหตุให้มุ่งทำร้าย เป็นการผิดปกติวิสัยที่คนจิตปกติจะมาทำร้ายโดยไม่ปรากฏสาเหตุใดๆมาก่อนหรือมีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อน เป็นการทำร้ายในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิต ไม่ต้องรับโทษ การไม่ต้องรับโทษต้องพิจารณาผู้กระทำว่า รู้สึกผิดชอบในการกระทำ “ ในขณะนั้น” กับ “ ขณะนั้น” สามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่ อันเนื่องจากจิตบกพร่อง โรคจิต ไม่ใช่ถือเอากากรกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุ ที่นำชี้ที่เกิดเหตุ กับแสดงท่าทางในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์ประกอบการกระทำความผิดที่กระทำก่อนแล้วไม่ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๐/๒๕๔๒
๒.จำเลยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า จนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบโจทก์ร่วมกำลังขับเรื่อเร่ขายสินค้าเช่นเดียวกับจำเลย จึงกระตุ้นให้มีความก้าวร้าวมากขึ้นจนทำร้ายโจทก์ร่วมอย่าสงรุนแรง แต่จำเลยยังขับเรือกลับไปบ้านได้ แสดงว่ายังรู้สึกผิดชอบยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง คำพิพากษาฏีกา ๑๖๐๙/๒๕๔๔
๓.จำเลยปัญญาอ่อนไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดไม้หวงห้ามผิดกฎหมาย ไม่ใช่การทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องเท่านั้น แต่ถึงขั้นถือได้ว่ากระทำผิดโดยไม่รู้สำนึกในการกระทำ ทั้งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๕๙ คำพิพากษาฏีกา ๘๗๔๓/๒๕๒๗
๔.เอกสารที่นำมาแสดงว่าเคยเป็นโรคประสาท เคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ เมื่อไม่ได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำความผิดโดยไม่รู้สึกตัว ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติ ส่วนแพทย์ที่ตรวจรักษาบาดแผลจำเลยยืนยันจำเลยมีอาการเบลอ ไม่ค่อยได้สตินั้นเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตตามีนมาก่อนจนมีอาการมึนเมา คำพิพากษาฏีกา ๑๖๒๗/๒๕๔๕
๕. ก่อนเกิดเหตุ ๖ ถึง ๗ เดือน จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิต เคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์หญิง ก. เบิกความรับรองใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวงประกอบรายงานการวินิจแยโรคโรงพยาบาลนิติจิตเวชระบุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิต เชื่อว่าจำเลยทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต ทั้งยังได้ความว่า เมื่อ อ.เข้าแย่งปืนจำเลย จำเลยไม่ได้ใช้ปืนยิง อ. หรือทำร้าย อ. แต่อย่างใด แสดงให้เห็นภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำผิดยังรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง คำพิพากษาฏีกา ๔๕๓๓/๒๕๔๕
๖.จำเลยต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยา ๒ เดือนต่อครั้ง หากไม่ได้รับประทานยาก็จะมีอาการคลุ้มคลั่ง จำเลยคิดว่าผู้เสียหายลักรองเท้าจำเลยไปถือเอาเป็นสาเหตุโกรธแค้นถือมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แล้วแสดงออกด้วยการใช้ปืนยิงผู้เสียหาย กระทำไปด้วยเพราะป่วยเป็นจิตเภท การที่จำเลยเชื่อฟังและมีอาการสงบลงเมื่อมารดาและพี่สาวจำเลยเข้ามาห้าม แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างจึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๒๑/๒๕๔๖
๗.รายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติไม่ปรากฏว่าผู้ใดข่มขู่หรือชักชวนให้จำเลยกระทำความผิด จำเลยสามารถหลบหนีไปโดยว่าจ้างรถสามล้อให้ไปส่งที่บ้าน แสดงระดับเชาวน์ปัญญาจำเลยไม่ได้อยู่ในระดับปัญญาอ่อนรุนแรง กระทำผิดในขณะรู้ผิดชอบและสามารถบังคับการกระทำของตัวเองได้ ไม่เป็นกรณีที่ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๑/๒๕๔๗
๘.มีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภทวาดระแวงไปรักษาตัวที่คลินิก ๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายแพทย์บอกรักษาหายแล้ว ขอเลิกกินยา แสดงอาการดีขึ้นสามารถพูดจารู้เรื่อง ก่อนเกิดเหตุ ๒ เดือน นำอาวุธปืนของกลางไปใช้แล้วนำกลับไปคืนที่บ้าน ม. วันเกิดเหตุจำเลยงัดกุญแจประตูห้องนอนของ ม. แล้วนำอาวุธปืนของกลางไป ก่อนไปยังขอเงินจากภริยาจำเลยเพื่อเติมน้ำมันแล้วขับรถออกไป หลังเกิดเหตุใช้ปืนยิงผู้ตายสามารถขับรถหนีกลับบ้าน ชั้นสอบสวนพูดจารู้เรื่องสามารถโต้ตอบได้ กระทำผิดในขณะสามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตัวเองได้ตาม ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง คำพิพากษาฏีกา ๑๒๒๖/๒๕๔๗
๙.ผู้ตายเป็นบิดาจำเลย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีมูลเหตุรุนแรงที่จะต้องฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจำเลยตลอดมา น่าเชื่อมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ไม่เป็นการชัดแจ้งว่ากระทำผิดในขณะรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยหวาดกลัวว่าจะมีคนทำร้ายและหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหนีไปนั้น แสดงมีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือจิตบกพร่อง เชื่อว่าจำเลยรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๐๙/๒๕๔๘
๑๐.ใช้มีดแทงโดยไม่ปรากฏสาเหตุ แทงแล้วไม่หลบหนี รับสารภาพชั้นสอบสวนว่าเกิดประสาทหลอนคิดว่าคนจะมาฆ่าจึงหยิบมีดขึ้นมาถือ หลังจากนั้นมีดแทงไปถูกโจทก์ร่วมอย่างไรไม่ทราบ ตามปกติสามารถทำง่านได้ แต่เวลาจำเลยมีอาการจะมีลักษณะกลัวคน ถือจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตัวเองได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๔๖๑/๒๕๓๕
๑๑.จำเลยไปหาแพทย์สองครั้ง ด้วยอาการปวดหัว สับสน นอนไม่หลับ หากมีการดื่มสุราหรือมีความเครียดมากอาจไม่รู้สึกตัว ๑๒ ถึง ๑๓ ชั่วโมง คืนเกิดเหตุได้ดื่มสุราใช้มีดงัดสายยูเข้าไปลักทรัพย์นำมาเก็บไว้ที่ตู้เสื้อผ้าที่บ้านจำเลย เมื่อผู้บังคับบัญชาถาม ก็รับสารภาพและคืนของกลางทั้งหมด ชั้นสอบสวนรับสารภาพนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแสดงว่ายังรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๔๗๔/๒๕๓๖
๑๒.ป่วยทางจิตเพราะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ รักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ๗ ปี จำเลยรับราชการที่แผนกการเงิน กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดได้ตามปกติ บางขณะมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางขณะก็เป็นปกติ คืนเกิดเหตุเคาะประตูเรียก ป. และโวยวายให้ช่วยหาคนที่เอามดแดงใส่ลงไปในรองเท้าและทำลายข้าวของในห้องพักจำเลย แล้วไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนผู้ตาย จึงหยิบมีดและปืนออกตามหาผู้ตาย เมื่อพบผู้ตาย จำเลยพูดว่า “ เฮ้ย มึงว่ากูกล้ายิงไหม?” แล้วใช้อาวุธยิงทันที หลังเกิดเหตุได้พูดกับ ป. ว่า “ เป็นไงเพื่อนมึงวิ่งหนีกูทำไม” พฤติการณ์ก่อนและหลังเกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับการกระทำของจำเลยได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๘๙๕/๒๕๔๐
ข้อสังเกต ๑.กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษในความผิดนั้น แต่หากสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปอ มาตรา ๖๕
๒.สิทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่วิกลจริต
๒.๑ หากจำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นบุคคลวิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลสั่งให้แพทย์ตรวจผู้นั้น แล้วให้แพทย์มาให้ถ้อยคำ หากเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาจนกว่าจะหายจากวิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้ และมีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิต หรือมอบตัวให้ผู้อนุบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับตัวไปรักษาตามที่เห็นสมควร ปวอ มาตรา ๑๔
๒.๒เมื่อจำเลยวิกลจริต จำเลย สามี ภรรยา ญาติจำเลย ผู้บัญชาการเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจัดการตามหมายจำคุก หรือพนักงานอัยการ สามารถร้องขอให้ศาลทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อนจนกว่าจำเลยจะหายจากวิกลจริตได้ ปวอ มาตรา ๒๔๖
๒.๓ให้รอการประหารชีวิตไว้จนกว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหายจากการเป็นบุคคลวิกลจริต ปอ มาตรา ๒๔๘
๓.น่ารู้เกี่ยวคนวิกลจริตในทางแพ่ง
๓.๑ในทางแพ่ง แม้จะเป็นคนไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นบุคคลวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตนได้กระทำ บิดา มารดา ผู้อนุบาลต้องร่วมรับผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ ปพพ มาตรา ๔๒๙
๓.๒ การใดที่บุคคลวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นวิกลจริตและคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ว่าผู้กระทำนั้นเป็นคนวิกลจริต ปพพ มาตรา ๓๐
๓.๓.คนวิกลจริตเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้ ปพพ มาตรา ๑๖๗๐(๒)
๔.คนที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือไม่มีสาเหตุทะเลาะวิวาทกันมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุที่จะทำร้ายร่างกายผู้อื่น การเข้าทำร้ายส่อให้เหตุถึงความผิดปกติทางจิต ซึ่งต้องฟังพฤติการณ์อื่นประกอบด้วยจึงจะสามารถชี้ชัดว่าเป็นโรคจิต จิตบกพร่อง จิตฟั่นเฟือนหรือไม่
๕.การไม่ต้องรับโทษต้องพิจารณาผู้กระทำว่า รู้สึกผิดชอบในการกระทำ “ ในขณะนั้น” กับ “ ขณะนั้น” สามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่ อันเนื่องจากจิตบกพร่อง โรคจิต ไม่ใช่ถือเอาการกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุ ที่นำชี้ที่เกิดเหตุ กับแสดงท่าทางในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์ ประกอบการกระทำความผิดที่กระทำก่อนแล้วไม่ นั้นก็คือ การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ไม่ใช่สิ่งที่ชี้ชัดว่าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้สึกตัว ยังสามารถบังคับการกระทำของตนได้ แต่ต้องพิจาณาใน “ ขณะกระทำผิด” ว่า ในขณะนั้นสามารถรู้ผิดชอบสามารถยับยั้งและบังคับตัวเองได้หรือไม่อย่างไร
๖..จำเลยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า จนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบโจทก์ร่วมกำลังขับเรื่อเร่ขายสินค้าเช่นเดียวกับจำเลย จึงกระตุ้นให้มีความก้าวร้าวมากขึ้นจนทำร้ายโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง แต่จำเลยยังขับเรือกลับไปบ้านได้ แสดงว่ายังรู้สึกผิดชอบยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง .ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า จำเลยเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นเพราะแย่งกันค้าขาย เมื่อเห็นว่าตนประสบปัญหาในเรื่องการค้าขาย เมื่อมาพบโจทก์ร่วมขายสินค้าประเภทเดียวกันจึงรู้สึกว่าถูกแย่งอาชีพทำให้รายได้ตนน้อยลงไปหรือไม่อย่างไร ทั้งยังได้ความว่า เมื่อกระทำผิดแล้วสามารถขับเรือกลับบ้านได้ การพิจารณาว่าเป็นโรคจิต จิตบกพร่องจิตฟั่นเฟือนจึงเป็นการพิจารณาที่ยาก หากวินิจฉัยผิดพลาดไป จำเลยได้รับโทษน้อยลงกว่าที่ควรได้รับซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรือการวินิจฉัยที่ผิดพลาดไปอาจทำให้จำเลยถูกลงโทษมากเกินกว่าที่ตนควรได้รับทั้งที่ตนเป็นโรคจิต จิตบกพร่องจิตฟั่นเฟือนซึ่งก็จะไม่เป็นธรรมกับจำเลย
๗.ปัญญาอ่อนกับการเป็นโรคจิต จิตบกพร่อง จิตฟั้นเฟือน มีความแตกต่างกัน ปัญญาอ่อนไม่ใช่ โรคจิต จิตบกพร่อง จิตฟั้นเฟือน คนที่ปัญญาอ่อนไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำบางอย่างเป็นความผิดกฎหมาย อาจไม่ทราบว่าการตัดไม้หวงห้ามผิดกฎหมาย ไม่ใช่การทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องเท่านั้น แต่ถึงขั้นถือได้ว่ากระทำผิดโดยไม่รู้สำนึกในการกระทำ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด เมื่อไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลแห่งการกระทำความผิดไม่ได้ จะถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาในการกระทำผิด การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสาม
๗.เอกสารที่นำมาแสดงว่าเคยเป็นโรคประสาท เคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ เมื่อไม่ได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันและรับรองความถูกต้องของเอกสารว่าป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำความผิดโดยไม่รู้สึกตัว เอกสารดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังได้ เพราะไม่มีพยานบุคคลมารับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวว่ามีอยู่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่อย่างไร เมื่อชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติ ส่วนแพทย์ที่ตรวจรักษาบาดแผลจำเลยยืนยันจำเลยมีอาการเบลอ ไม่ค่อยได้สตินั้นเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตตามีนมาก่อนจนมีอาการมึนเมา ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยมีจิตบกพร่อง เป็นโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน
๘. ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวงโดยมีแพทย์มาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวประกอบรายงานการวินิจฉัยโรคโรงพยาบาลนิติจิตเวชระบุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิต ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิต ได้กระทำผิดไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต หากไม่มีพยานบุคคลมายืนยันรับรองเอกสารก็ยากที่จะน่าเชื่อว่าเป็นจริงตามเอกสารดังกล่าว เพราะเอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของเอกสารก็ได้ ทั้งการที่มีแพทย์มาเบิกความรับรองเอกสารก็จะถูกการตรวจสอบด้วยการถามค้านเพื่อกระจายข้อเท็จจริงและค้นหาความจริงว่าเป็นไปตามเอกสารที่อ้างหรือไม่อย่างไร เมื่อได้ความว่า เมื่อ อ.เข้าแย่งปืนจำเลย จำเลยไม่ได้ใช้ปืนยิง อ. หรือทำร้าย อ. แต่อย่างใด แสดงให้เห็นภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำผิดยังรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง
๙. การที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยา ๒ เดือนต่อครั้ง หากไม่ได้รับประทานยาก็จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ส่อให้เห็นว่ามีอาการทางโรคจิต เหมือนลูกน้องผมที่ต้องทานยาไปตลอดชีวิต หากไม่ทานจะมีอาการเครียด ซึ่งน่าเป็นภาษากลางๆที่สุภาพแทนการใช้ว่า มีอาการคลุ้มคลั้งหรือบ้า บุคคลประเภทนี้หากมีอาวุธอยู่ใกล้ตัวก็จะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลที่อยู่ใกล้ การที่จำเลยคิดว่าผู้เสียหายลักรองเท้าจำเลยไปถือเอาเป็นสาเหตุโกรธแค้นถือมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ ลำพังเพียงถูกลักทรัพย์ไม่น่าจะมีอาการโกรธแค้นถึงกับต้องเอาชีวิต ยังมีทางออกอื่นอีก เช่น เข้าไปสอบถามให้ได้ความ หรือการแจ้งความดำเนินคดี การทีแสดงออกด้วยการใช้ปืนยิงผู้เสียหาย น่าเชื่อว่ากระทำไปด้วยเพราะป่วยเป็นจิตเภท เพราะบุคคลที่เป็นโรคจิตสภาวะการตัดสินใจความคิดผิดปกติจากคนทั่วไป บางคนก็มีอาการซึมเศร้านั่งเหมอลอยอยู่คนเดียว ไม่พูดไม่จากับใคร มีความคิดที่ผิดปกติบางคนก็ได้ยินเสียงคนตามมาทำร้ายหรือมาฆ่า บางคนก็มีความคิดผิดไปจากที่สังคมทั่วไปกระทำกัน การที่จำเลยเชื่อฟังและมีอาการสงบลงเมื่อมารดาและพี่สาวจำเลยเข้ามาห้าม แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างจึงต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
๑๐. แม้ตามรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติไม่ปรากฏว่าผู้ใดข่มขู่หรือชักชวนให้จำเลยกระทำความผิด อันน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยตัวเอง หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไปโดยว่าจ้างรถสามล้อให้ไปส่งที่บ้าน แสดงระดับเชาวน์ปัญญาจำเลยไม่ได้อยู่ในระดับปัญญาอ่อนรุนแรง อันส่อให้เห็นและน่าเชื่อว่า กระทำผิดในขณะรู้ผิดชอบและสามารถบังคับการกระทำของตัวเองได้ ไม่ได้กระทำผิดในขณะวิกลจริตไม่สามารถรู้สึกตัวหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ จึงไม่ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ตาม ปอ มาตรา ๖๕
๑๑. พฤติการณ์ของจำเลยที่ ก่อนเกิดเหตุ ๒ เดือน นำอาวุธปืนของกลางไปใช้แล้วนำกลับไปคืนที่บ้าน ม. แสดงให้เห็นว่ายังรู้สึกตัวรู้ผิดชอบชั่วดี วันเกิดเหตุจำเลยงัดกุญแจประตูห้องนอนของ ม. แล้วนำอาวุธปืนของกลางไป โดยก่อนไปยังขอเงินจากภริยาจำเลยเพื่อเติมน้ำมันแล้วขับรถออกไป ยิ่งส่อให้เห็นว่าจำเลยรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทั้งหลังเกิดเหตุใช้ปืนยิงผู้ตายแล้วสามารถขับรถหนีกลับบ้าน ชั้นสอบสวนพูดจารู้เรื่องสามารถโต้ตอบได้ แสดงว่าสามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตัวเองได้ เมื่อก่อนเกิดเหตุจำเลยมีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภทวาดระแวงไปรักษาตัวที่คลินิก ๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายแพทย์บอกรักษาหายแล้ว ขอเลิกกินยา แสดงอาการดีขึ้นสามารถพูดจารู้เรื่อง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าหายจากการเป็นโรคจิตจริงหรือไม่อย่างไร น่าเชื่อว่ากระทำผิดในขณะมีจิตบกพร่อง แต่ยังสามารถรู้สึกตัวและยังสามารถบังคับตนเองได้ ศาลจึงลงโทษน้อยกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง
๑๒. ปกติแล้วบุคคลทั่วไปจะไม่ฆ่าหรือทำร้ายบุพการีที่เลี้ยงดูตัวเองมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายผิดศีลธรรมอันดีงามของประชาชน การที่จำเลยฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ปรากฏว่า เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีมูลเหตุรุนแรงหรือสาเหตุทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงที่จะต้องฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจำเลยตลอดมา ทำให้น่าเชื่อมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ไม่เป็นการชัดแจ้งว่ากระทำผิดในขณะรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยหวาดกลัวว่าจะมีคนทำร้าย ส่อให้เห็นความผิดปกติทางจิตที่หวาดระแวงว่ามีคนคอยทำร้ายตนเอง ได้ยินเสียงคนที่จะมาทำร้ายตนเองซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตประเภทหนึ่ง น่าเชื่อว่ากระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่อง แต่หลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง รู้ว่าตัวเองกระทำความผิดอาจถูกจับกุมได้จึงได้หลบหนีไป เมื่อจำเลยยังรู้สึกตัวอยู่บ้างศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้
๑๓.พฤติการณ์ที่ใช้มีดแทงโดยไม่ปรากฏสาเหตุ แทงแล้วไม่หลบหนี ผิดปกติจากคนทั่วไปที่เมื่อไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาก่อนแล้วมักไม่ทำร้ายร่างกายกันและกัน และผิดปกติจากคนทั่วไปที่เมื่อกระทำความผิดตามกฎหมายแล้วจะหลบหนี การแทงโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคือง แทงแล้วไม่หนี ประกอบทั้งในชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพโดยให้การว่าเกิดประสาทหลอนคิดว่าคนจะมาฆ่าจึงหยิบมีดขึ้นมาถือ หลังจากนั้นมีดแทงไปถูกโจทก์ร่วมอย่างไรไม่ทราบ ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำความผิดในขณะวิกลจริตหรือเป็นโรคจิต แม้ว่า ตามปกติสามารถทำงานได้ แต่เวลาจำเลยมีอาการจะมีลักษณะกลัวคนก็ตาม คนที่มีอาการวิกลจริตไม่ได้หมายความว่าต้องวิกลจริตตลอดเวลา บางคนก็เป็นตลอดเวลา บางคนก็เป็นเฉพาะเมื่อมีอารมณ์เครียดหรือมีสิ่งอื่นมากระทบ ถือว่าจำเลยกระทำผิดขณะมีอาการผิดปกติทางจิตแต่จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตัวเองได้
๑๔.การไปพบแพทย์สองครั้ง ด้วยอาการปวดหัว สับสน นอนไม่หลับ หากมีการดื่มสุราหรือมีความเครียดมากอาจไม่รู้สึกตัว ๑๒ ถึง ๑๓ ชั่วโมง ส่อให้เห็นถึงอาการความบกพร่องทางจิต คืนเกิดเหตุได้ดื่มสุราใช้มีดงัดสายยูเข้าไปลักทรัพย์นำมาเก็บไว้ที่ตู้เสื้อผ้าที่บ้านจำเลย เมื่อผู้บังคับบัญชาถาม ก็รับสารภาพและคืนของกลางทั้งหมด ชั้นสอบสวนรับสารภาพนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแสดงว่ายังรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ปกติแล้วคนกระทำผิดน้อยรายที่จะยอมรับสารภาพต่างปฏิเสธและอ้างว่า “ เขาหาว่าผม.........” มักจะอ้างว่า “ เขาหาว่า” เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่ยอมรับสารภาพเพราะสำนึกในการกระทำผิดมีน้อย ส่วนใหญ่ที่รับสารภาพเพราะจนต่อพยานหลักฐานหรือถูกซ้อมให้รับสารภาพ แต่การที่จำเลยยอมรับสารภาพแต่โดยดี ยอมคืนสิ่งของ นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แสดงให้เห็นว่ายังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดี น่าเชื่อว่ากระทำผิดในขณะมีความผิดปกติทางจิตแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดี ยังสามารถบังคับการกระทำของตนเองได้ ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
๑๕.การป่วยทางจิตเพราะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ รักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ๗ ปี อันเนื่องจากสมองได้รับกากรกระทบกระเทือนในขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ จำเลยรับราชการที่แผนกการเงิน กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดได้ตามปกติ บางขณะมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางขณะก็เป็นปกติ คืนเกิดเหตุเคาะประตูเรียก ป. และโวยวายให้ช่วยหาคนที่เอามดแดงใส่ลงไปในรองเท้าและทำลายข้าวของในห้องพักจำเลย ซึ่งตามปกติคนทั่วไปลำพังเพียงมีมดแดงเข้าไปอยู่ในรองเท้าซึ่งก็ยังไม่แน่ว่ามีคนเอาไปใส่ หรือมดแดงเดินเข้ามาอยู่ในรองเท้า ลำพังเพียงแค่นี้คนปกติธรรมดาคงไม่ต้องมาทำลายข้าวของของตนเองให้ได้รับความเสียหาย น่าเชื่อว่ากระทำไปขณะมีความผิดปกติทางจิตอันเป็นผลเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ การที่จำเลยไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนผู้ตาย จึงหยิบมีดและปืนออกตามหาผู้ตาย ทั้งที่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายเป็นคนเอามดแดงใส่ในรองเท้าของจำเลยหรือไม่ หรือแม้ผู้ตายจะเอามดแดงใส่ในรองเท้าจำเลยก็ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องไปงัดห้องผู้ตายแล้วออกตามหาและใช้ปืนยิงผู้ตาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำไปขณะมีจิตบกพร่องทั้ง เมื่อพบผู้ตาย จำเลยพูดว่า “ เฮ้ย มึงว่ากูกล้ายิงไหม?” แล้วใช้อาวุธยิงทันที หลังเกิดเหตุได้พูดกับ ป. ว่า “ เป็นไงเพื่อนมึงวิ่งหนีกูทำไม” พฤติการณ์ก่อนและหลังเกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับการกระทำของจำเลยได้ ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฏหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: